RSS

ทฤษฏีหมวก 6 ใบ กับกระบวนการตัดสินใจของนักบิน

13 Aug

หมวก 6 ใบ กับกระบวนการตัดสินใจของนักบิน
(De Bono’s six hats and pilot decision processes)

Edward De Bono เป็นนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในโลกใบนี้ ซึ่งเป็นผู้เสนอแนวคิด Parallel Thinking โดยมีเนื้อหาว่า ในการมองปัญหาหรือเรื่องต่างๆ นั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน ปัญหาเดียวกัน แต่ก็มีมุมมองได้หลายลักษณะ ดังนั้นคนเราจึงไม่ควรมองอะไรด้วยวิธีคิดเพียงวิธีเดียว แต่ควรแยกกระบวนการคิดออกเป็นแนวทางย่อยๆ แล้วจึงมองปัญหานั้นพร้อมๆ กัน และแนวคิดย่อยๆ ที่ de Bono แยกออกมา เค้าได้สมมติให้เป็นหมวก 6 ใบ แต่ละใบมีสีที่แตกต่างกัน ส่งผลให้แนวคิดแตกต่างกัน ณ เวลาสวมหมวกสีนั้นๆ

หมวกสีขาว (White Hat) : ความเป็นกลาง ปราศจากอคติ หมวกใบนี้จะคิดถึงเรื่องข้อเท็จจริงและตัวเลข

หมวกสีแดง (Red Hat) : ความโกรธ โทสะ หมวกใบนี้จะคิดโดยเน้นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึก

หมวกสีดำ (Black Hat) : ความระมัดระวัง หมวกใบนี้จะมีแนวคิดที่เป็นลบ ระแวดระวัง มองหาจุดอ่อน ข้อเสีย ผลร้าย

หมวกสีเหลือง (Yellow Hat) : ความหวัง หมวกใบนี้จะมองโลกในแง่ดี มองหาประโยชน์ ข้อดี ผลดี

หมวกสีเขียว (Green Hat) : ความคิดสร้างสรรค์ หมวกใบนี้จะมองในมุมที่แตกต่าง สร้างสรรค์

หมวกสีฟ้า (Blue Hat) : การควบคุม หมวกใบนี้จะประมวลกระบวนการคิดของหมวกทั้ง 5 ใบข้างต้น โดยจะมองเป็นภาพมุมกว้าง และจะทำการประเมินถึงผลลัพธ์ในแต่ละทาง ก่อนที่จะดำเนินการตัดสินใจ

นักบิน นอกจากจะเป็นผู้มีหน้าที่ในการบังคับควบคุมอากาศยานแล้ว อีกภาระหน้าที่หนึ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเที่ยวบินแต่ละเที่ยวบิน คือ การบริหารจัดการเที่ยวบินนั้นๆ ให้เป็นไปด้วยความปลอดภัย ราบรื่น บรรลุตามเป้าหมายของภารกิจ ดังนั้น การตัดสินใจของนักบิน จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญในการบริหารจัดการเที่ยวบินแต่ละเที่ยวบิน หากการตัดสินใจของนักบินมีความผิดพลาด ผลลัพธ์ที่ตามมาอาจจะทำให้เกิดการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ยากแก่การประเมินค่า เพราะฉะนั้นวิธีคิด ก่อนการตัดสินใจของนักบินนั้นจึงถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ไม่แพ้กับความสามารถในการบังคับควบคุมอากาศยานเลยทีเดียว

หากนำวิธีคิดของ de Bono ประยุกต์ใช้กับกระบวนการตัดสินใจของนักบินแล้ว ก็จะทำให้กระบวนการคิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเกิดประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน ผมจึงจะอธิบายถึงแนวคิดแต่ละแบบอย่างละเอียด ดังต่อไปนี้

หมวกสีขาว (White Hat)

ก่อนการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ สิ่งแรกที่นักบินควรทำก็คือ การหยิบหมวกสีขาวใบนี้มาใส่ ซึ่งเมื่อใส่หมวกใบนี้แล้ว แนวคิดของนักบินจะเปลี่ยนไปเป็นแนวคิดที่มีความเป็นกลาง ปราศจากอคติ โดยนักบินจะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนั้น โดยจะต้องทราบว่า ปัญหาที่ต้องยกมาพิจารณา นักบินมีข้อข้อมูลอะไรบ้าง ยังขาดข้อมูลอะไรบ้าง จะหาข้อมูลนั้นมาได้อย่างไร และข้อมูลใดจำเป็นหรือไม่จำเป็น เช่น เกิดปัญหาไฟไหม้เครื่องยนต์ สนามบินที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ใด มีอุปกรณ์ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง สนาบินนั้นเหมาะสมหรือไม่ที่จะทำการลงจอดฉุกเฉิน เชื้อเพลิงที่เหลืออยู่บนเครื่องบินมีปริมาณเท่าใด สามารถบินได้อีกกี่นาที ไกลแค่ไหน เป็นต้น ส่วนสำคัญของกระบวนการนี้คือ การแยกแยะข้อมูล เพราะการมีข้อมูลเยอะเกินไปอาจจะทำให้เกิดความสับสนในการตัดสินใจ หรือการมีข้อมูลน้อยเกินไปก็ไม่อาจจะทำให้ตัดสินใจได้ และหากนำข้อมูลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องปัญหาที่เกิดขึ้นมาร่วมคิดด้วย ก็อาจจะทำให้การตัดสินใจเกิดการเบี่ยงเบนจากความถูกต้องก็เป็นได้ ดังนั้น นักบินต้องมีข้อมูลที่พอเหมาะ และมีความจำเป็น สำคัญ ช่วยให้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ

หมวกสีแดง (Red Hat)

ทันทีที่นักบินหยิบหมวกสีแดงขึ้นมาใส่ แนวคิดจะเปลี่ยนไปโดยการพิจารณาต่างๆ โดยการใช้เพียงแค่ อารมณ์ ความรู้สึก โดยปราศจากเหตุผลใดๆ ลักษณะจะเป็นการเปิดใจ เพื่อแบ่งปันความรู้สึกออกไปให้เพื่อนร่วมงานรับรู้ได้ แต่อย่างไรก็ตามในสายงานทางด้านการบินนั้น การใส่หมวกสีแดงเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้ ดังนั้นการสวมหมวกสีแดงจึงควรสวมแต่พอดี เช่น ในกรณีที่มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งขอเข้าห้องนักบิน ซึ่งการสวมหมวกสีแดงนี้จะทำให้นักบินพยายามคิดว่า อยากให้เค้าเข้ามาหรือไม่ ถ้าอยาก ก็จะอนุญาตให้เข้ามาทันที โดยไม่จำเป็นจะต้องอ้างอิงถึงกฏของบริษัทในการห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปในห้องนักบิน ซึ่งหากมองในมุมกว้างๆ แล้ว หมวกสีแดง มักใช้สำหรับเรื่องที่ไม่หนักหนาสาหัสมากนัก เป็นเรื่องเล็กน้อยที่สามารถใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการตัดสินใจได้ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ ในขณะที่นักบินกำลังนำเครื่องลงจอดในสถานการณ์ลมขวางสนาม (Crosswind) หากนักบินสวมหมวกสีแดง เมื่อนักบินรู้สึกว่าไม่สามารถนำเครื่องบินลงจอดได้ ก็จะไม่ฝืนนำเครื่องบินลดระดับลงไปอีกเด็ดขาด โดยจะทำการ Go Around เพื่อนำเครื่องบินกลับขึ้นสู่ความสู่ที่ปลอดภัยในการทำการบิน ก่อนที่จะพยายามนำเครื่องบินกลับมาลงจอดอีกครั้ง

หมวกสีดำ (Black hat)

ในการพิจารณาเรื่องต่างๆ หมวกสีดำคือหมวกที่นักบินจะต้องสวมใส่ทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่องต่างๆ ที่อาจจะแฝงอยู่ และมองไม่เห็นจากการสวมหมวกใบอื่นๆ ซึ่งเมื่อนักบินทำการสวมหมวกสีดำ ก็จะเป็นการมองโลกในแง่ร้าย มองด้านลบ มองหาสิ่งที่จะทำให้เกิดผลเสียตามมา เช่น จากกรณีใส่หมวกสีแดงอนุญาตให้เด็กผู้ชายเข้ามาในห้องนักบิน นักบินจะต้องสวมหมวกสีดำเพื่อพิจารณาอีกด้วยว่า เด็กคนนี้เป็นผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมาหรือไม่ ? เด็กคนนี้จะทำให้รบกวนขั้นตอนการบินหรือไม่ ? ถ้าให้เด็กคนนี้เข้ามาในห้องนักบินแล้วมีผู้หวังดีประสงค์ร้ายร้องเรียนไปที่บริษัท จะทำให้เกิดผลร้ายต่อตัวนักบินเองหรือไม่ ? หรือในกรณีที่เครื่องยนต์ไฟไหม้ เมื่อพิจารณาถึงสนามบินสำรองที่จะทำการลงจอดฉุกเฉินแล้วก็ต้องสวมหมวกสีดำเพื่อคิดอีกแง่หนึ่งด้วยว่า ถ้าบินไปถึงแล้วสนามบินปิดจะทำอย่างไร ? ถ้าบินไม่ถึงสนามบินสำรองจะทำอย่างไร ? ถ้าลงจอดไม่ได้จะทำอย่างไร ? เป็นต้น เพื่อเป็นการตระหนักถึงผลเสีย ผลร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

หมวกสีเหลือง (Yellow Hat)

เป็นหมวกที่ทำให้ผู้สวมใส่มองโลกในแง่ดี ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับหมวกสีดำ นั่นหมายถึงการประเมินสิ่งต่างๆ จะมองบวก คิดบวก เช่นหากเที่ยวบินล่าช้ากว่าปกติ เมื่อนักบินใส่หมวกสีเหลือง ก็อาจจะทำให้มีแนวคิดประมาณว่า จะรีบไปทำไม อาจจะช้าสักหน่อย แต่ก็เพื่อความปลอดภัย หรือหากในวันนั้นนักบินทำการลงจอดแล้วกระแทกพื้นทางวิ่งแรงไปหน่อย อาจจะทำให้นักบินคิดมากได้ พยายามโทษว่าเป็นความผิดตัวเอง แต่เมื่อใส่หมวกสีเหลืองแล้ว แนวคิดอาจจะเปลี่ยนไปเป็น ทุกคนย่อมมีวันที่ดีและไม่ดีกันทั้งนั้น วันนี้อาจจะไม่ดี พรุ่งนี้จะต้องทำให้ดีกว่านี้ การกระแทกแรงทำให้ลดการไถลออกนอกทางวิ่งของเครื่องบิน เป็นต้น แต่ข้อควรระวังคือ การมองโลกในแง่ดีเกินไป อาจจะทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของความประมาทได้ และรวมถึงความคิดเข้าข้างตัวเอง ซึ่งก็ต้องระมัดระวังพอสมควร

หมวกสีเขียว (Green Hat)

การแก้ปัญหาเดิมๆ ด้วยวิธีเดิมๆ เป็นสิ่งที่นักบินพึงเรียนรู้และจดจำเสมอ เช่น หากเกิดไฟไหม้เครื่องยนต์ จะมีวิธีรับมืออย่างไร หรือ หากระบบนำร่องเสียจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่หากนักบินสวมหมวกสีเขียว ก็จะมีโอกาสค้นพบวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา นั่นหมายความว่าปัญหาเดียวกัน อาจจะสามารถแก้ไขได้ด้วยหลากหลายวิธีที่แตกต่างกัน หรือนอกจากนี้นักบินอาจจะค้นพบเทคนิคทางการบินใหม่ๆ เนื่องด้วยหมวกสีเขียวเป็นหมวกของความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นลักษณะของผู้สวมใส่หมวกใบนี้คือ จะมองในมุมที่แตกต่างออกไป พยายามสร้างสรรค์วิธีการต่างๆ ที่แตกต่างออกไป ทั้งความคิดที่อยู่ในกรอบและความคิดที่อยู่นอกกรอบ แต่ข้อควรระวังคือ พึงระลึกเสมอว่าหากต้องการจะทดลองวิธีการอะไรใหม่ๆ จะต้องไปทำในเครื่องฝึกบินจำลอง อย่าทดลองในเที่ยวบินจริงๆ เด็ดขาด

หมวกสีฟ้า (Blue Hat)

หลังจากที่สวมหมวกทุกใบข้างต้นมาแล้ว ณ จุดนี้นักบินจะมีข้อมูลและแนวคิดประมาณหนึ่ง ดังนั้นการสวมหมวกสีฟ้าเพื่อเป็นการทบทวนข้อดีข้อเสียของผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ ที่เกิดจากรูปแบบการตัดสินใจที่แตกต่างกัน เช่น การประมวลข้อมูลและความคิดว่าจะนำเครื่องบินไปลงจอดฉุกเฉิน ณ สนามบินใด จากกรณีเครื่องยนต์หมายเลข 2 ไฟไหม้ เป็นต้น ดังนั้นอย่าลืมที่จะใส่หมวกสีฟ้าทุกครั้งก่อนการตัดสินใจใดๆ จากนั้นจึงค่อยเลือกคำตอบสุดท้ายจากหมวกใบสีฟ้าใบนี้

ตัวอย่างสถานการณ์ : หลังจากนำเครื่องบินขึ้นจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปรากฏว่าหน้าจอแสดงผลว่า ฐานล้อไม่สามารถพับเก็บได้ ในฐานะนักบินจะตัดสินใจอย่างไร ?

วิธีคิดของหมวกสีต่างๆ

หมวกสีขาว (White Hat) : ตรวจสอบว่าฐานล้อไม่สามารถพับเก็บได้จริงหรือไม่ เป็นฐานล้อชุดใด มีวิธีการแก้ไขระบุไว้ในคู่มือการบินหรือไม่ เชื้อเพลิงที่มีสามารถบินต่อไปได้อีกกี่นาที น้ำหนัก MLW อยู่ที่เท่าไร มีผู้โดยสารทั้งสิ้นกี่คน มีสนามบินใกล้เคียงใดๆ อีกบ้าง
หมวกสีแดง (Red Hat) : ตื่นเต้น แต่ต้องคุ้มสติให้ได้ ต้องพยายามหาวิธีแก้ปัญหา
หมวกสีดำ (Black Hat) : เป็นแค่ระบบรายงานผลผิดพลาดหรือไม่ ฐานล้ออยู่ในตำแหน่งล็อคหรือไม่ หากลงจอดแล้วจะทำให้ฐานล้อพับหรือหักในช่วงลงจอดหรือไม่
หมวกสีเหลือง (Yellow Hat) : ฐานล้อเก็บไม่ได้ ก็ยังดีกว่าฐานล้อกางไม่ได้
หมวกสีเขียว (Green Hat) : น่าจะลองใช้วิธีการกระแทกให้ฐานล้อเครื่องบินพับเก็บ จากนั้นจึงใช้แรงโน้มถ่วงโลกทำให้ฐานล้อกางและล็อคอีกครั้ง
หมวกสีฟ้า (Blue Hat) : เนื่องจากไม่แน่ใจว่าฐานล้อกางอยู่หรือไม่ จึงควรที่จะทำการบิน Low Pass เพื่อให้ ATC ช่วยดูให้ว่าฐานล้อกางหรือไม่ สำหรับน้ำหนักเครื่องบินตอนนี้มากกว่า MLW จึงต้องไปทิ้งน้ำมันออกก่อนแล้วจึงทำการลงจอด โดยสนามบินที่มีความพร้อมมากที่สุดคือสนามบินสุวรรณภูมิ

ดังนั้นการตัดสินใจคือ : จะทำการวนกลับไปลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่จะบินไปทิ้งน้ำมันออกจากเครื่องบินก่อน เพื่อให้น้ำหนักน้อยกว่า MLW จากนั้นจะทำการบิน Low Pass เพื่อให้ ATC ช่วยดูว่าฐานล้อกางหรือไม่ ก่อนที่จะทำการลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

การคิดและตัดสินใจ ควรใส่หมวกให้ครบทั้ง 6 ใบ
และ
เมื่อได้คำตอบสุดท้ายแล้วจะต้องถอดหมวกออก

Download บทความแบบ PDF

 
Leave a comment

Posted by on August 13, 2011 in General Talk

 

Tags: , , , , , , , , , ,

Leave a comment